ภูมิศาสตร์ ประเทศจีน
ประเทศจีนตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออก บนฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก มีพื้นที่ดินประมาณ 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นประเทศที่มีพื้นที่บนบกมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก และถูกพิจารณาว่ามีพื้นที่ทั้งหมดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 หรือ 4 ของโลก (ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อมูลขนาดนี้เกี่ยวข้องกับความถูกต้องของการอ้างสิทธิเหนือดินแดนของจีน อย่างเช่น อัคสัยจินและดินแดนทรานส์คอราคอรัม (ซึ่งอินเดียอ้างสิทธิเหนือดินแดนทั้งสองด้วยเช่นกัน)) รองจากรัสเซียและแคนาดา ประเทศจีนมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศต่างๆ ถึง 14 ประเทศ ได้แก่ ประเทศเวียดนาม ประเทศลาว ประเทศพม่า ประเทศอินเดีย ประเทศภูฏาน ประเทศเนปาล ประเทศปากีสถาน ประเทศอัฟกานิสถาน ประเทศทาจิกิสถาน ประเทศคีร์กีซสถาน ประเทศคาซัคสถาน ประเทศรัสเซีย ประเทศมองโกเลีย ด้วยความยาวถึง 22,800 กิโลเมตร และเมื่อข้ามทะเลไปทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้มี ประเทศเกาหลี ประเทศญี่ปุ่น ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศบรูไน ประเทศมาเลเซีย และประเทศอินโดนีเซีย
แผ่นดินใหญ่จีนถูกขนาบทางตะวันออกไปทางใต้ด้วยทะเลเหลือง ทะเลจีนตะวันออก และทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีเกาะเล็กเกาะน้อยถึง 5,400 เกาะ จึงทำให้ประเทศจีนมีอาณาเขตทางทะเลที่ใหญ่มาก เกาะที่ใหญ่ที่สุดมีเนื้อที่ 36,000 ตารางกิโลเมตร คือ ไต้หวัน ตามด้วยเกาะไหหลำ 34,000 ตารางกิโลเมตร ส่วนพื้นที่ทางด้านตะวันตกของจีนเป็นแนวเทือกเขาสูงชันและที่ราบสูงทิเบต มีเทือกเขาที่สำคัญ คือ เทือกเขาหิมาลัย ซึ่งมีจุดสูงสุดคือ ยอดเขาเอเวอเรสต์ ทางด้านเหนือของที่ราบสูงเป็นที่ราบแอ่งกระทะขนาดใหญ่ คือ แอ่งทาลิม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่แห้งแล้งมาก เป็นที่ตั้งของทะเลทรายอาทากามา ส่วนแม่น้ำที่สำคัญในประเทศจีนและมีต้นกำเนิดในประเทศจีน ได้แก่ แม่น้ำเหลือง แม่น้ำแยงซีเกียง แม่น้ำโขง และแม่น้ำสาละวิน
อุณหภูมิ
สภาพอากาศของประเทศจีนส่วนใหญ่ยึดตามสภาพอากาศในเขตภาคเหนือที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม โดยในเดือนกันยายนและตุลาคมไปจนถึงเดือนมีนาคมและเมษายนของปีถัดไป จะได้รับลมมรสุมจากที่ไซบีเรียและที่ราบสูงมองโกเลียพัดเข้าสู่ประเทศจีน ทำให้อากาศแห้งและหนาวเย็น และทำให้อุณหภูมิแตกต่างกันถึง 40 องศาเซลเซียส ระหว่างทางเหนือกับทางใต้ของประเทศอุณหภูมิในฤดูหนาวจะอยู่ที่ระหว่าง 5 -18 องศาเซลเซียส ซึ่งหนาวกว่าประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในเส้นละติดจูดเดียวกัน ในฤดูร้อนนั้นลมมรสุมพัดจากมหาสมุทรเข้าสู่แผ่นดินจึงนำเอาความอบอุ่นและความชุ่มชื้นมาจึงก่อให้เกิดฝนตก
ภูมิอากาศในแต่ละภาคมีความแตกต่างกันอย่างมาก อย่างทางเหนือของไฮหลงเจียงซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไม่มีฤดูร้อน ที่เกาะไห่หนานหรือไหหลำทางใต้มีฤดูร้อนอันยาวนานแต่ไม่มีฤดูหนาว ที่ลุ่มน้ำฮว่ายเหอมีครบทั้ง 4 ฤดู ส่วนในทางตะวันตกของประเทศแถบที่ราบสูงชิงไห่ – ทิเบตจะมีหิมะปกคลุมตลอดทั้งปี ทางตอนใต้แถบที่ราบสูงหยุนหนานกุ้ยโจวมีอากาศเย็นสบายเหมือนฤดูใบไม้ผลิตลอดทั้งปีเช่นกัน ด้านปริมาณน้ำฝนต่อปีก็แตกต่างกันตามแต่ละภูมิภาคเช่นกัน เช่นปริมาณน้ำฝนต่อปีสูงถึง 1,500 มิลลิเมตร ในแถบชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ และลดลงเหลือแค่ 50 มิลลิเมตร ในแผ่นดินตอนในในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ
การปกครอง
ประเทศจีนสถาปนาประเทศเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 มีพรรคคอมมิวนิสต์จีนดำเนินการปกครองประเทศตามแนวทางพื้นฐานของลัทธิมาร์กซ์ – เลนิน และความคิดเหมา เจ๋อตุง โดยประยุกต์เข้ากับแนวทฤษฎีการสร้างสรรค์ความทันสมัยให้แก่ระบอบสังคมนิยม ของนายเติ้ง เสี่ยวผิง พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นแกนนำในการปกครอง โดยมีพรรคการเมืองอื่นอีก 8 พรรค เป็นแนวร่วม ภายใต้การปกครองในลักษณะสังคมนิยมที่มีเฉพาะแบบจีน
ประเทศจีนแบ่งการปกครองออกเป็น
- 23 มณฑล ได้แก่ กวางตุ้ง กานซู กุ้ยโจว จี๋หลิน เจ้อเจียง เจียงซี เจียงซู ส่านซี ซานซี ซานตง ชิงไห่ ฝูเจี้ยน ยูนนาน เสฉวน หูเป่ย์ หูหนาน เหลียวหนิง เหอเป่ย์ เหอหนาน ไหหลำ อานฮุย เฮย์หลงเจียง
- 5 เขตปกครองตนเอง ได้แก่ กว่างซีจ้วง ซินเจียงอุยกูร์ ทิเบต มองโกเลียใน หนิงเซี่ยหุย
- 4 เทศบาลนคร ได้แก่ เป่ย์จิง (ปักกิ่ง) เทียนจิน (เทียนสิน) ช่างไห่ (เซี่ยงไฮ้) ฉงชิ่ง (จุงกิง)
- 2 เขตบริหารพิเศษ ได้แก่ ฮ่องกง มาเก๊า
ศาสนา
ประชาชนจีนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายานและวัชรยาน โดยนับถือปนไปกับลัทธิขงจื้อและลัทธิเต๋า กว่า 300 ล้านคน นอกนั้นนับถือนิกายเถรวาท มีนับถือศาสนาอิสลามกว่า 11 ล้านคน และนับถือศาสนาคริสต์อีก 5.2 ล้านคน
ภาษา
ภาษาจีนเป็นภาษาที่เก่าแก่และเป็นภาษาที่คนใช้มากที่สุดภาษาหนึ่ง เป็นภาษาหลักที่คนจีนใช้กันอยู่ ภาษามาตรฐานของภาษาจีน คือ ภาษาจีนกลาง ซึ่งเป็นภาษาที่ชาวฮั่นใช้กันโดยทั่วไปเป็นภาษากลางที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างพื้นที่ต่างๆ และในชนเผ่าต่างๆ ของจีน
แม้ชาวจีนทุกคนสามารถใช้ภาษาจีนได้ แต่จากการที่ประเทศจีนมีอาณาเขตกว้างขวางทำให้ท้องถิ่นต่างๆ มีภาษาพูดที่แตกต่างกัน โดยภาษาพูดที่ใช้กันในแต่ละท้องถิ่นคือ ภาษาถิ่น ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ติดต่อกันเฉพาะในท้องถิ่น ภาษาท้องถิ่นของจีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้มีหลายภาษา เช่น ภาษาเหนือ ได้แก่ ภาษาอู๋ ภาษาเซียง ภาษาก้าน ภาษาแคะ ภาษาหมิ่น ภาษาเย่ว์ ทั้งหมดเป็นภาษาเหนือที่มีการใช้กันมากที่สุด และภาษาท้องถิ่นอื่นๆ ที่นิยมใช้กัน เช่น ภาษาเสฉวน ภาษาหูหนาน ภาษาแต้จิ๋ว ภาษาไหลหลำ ภาษากวางตุ้ง ภาษาฮกเกี้ยน ภาษาฮักกา และภาษาเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น ซึ่งการออกเสียงภาษาจีนกลางก็มีสำเนียงเพี้ยนไปตามท้องถิ่น
ไฟฟ้า
ใช้กระแสไฟฟ้า AC 220 V, 50 Hz